บุกค้น 5 บริษัทไทยประเดิมปีเสือ ฐานใช้ซอฟต์แวร์เถื่อน

image_pdfimage_print

กองบังคับการการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจหรือ บก.ปอศ. ประกาศผลงานปราบปรามซอฟต์แวร์เถื่อนต่อเนื่อง ล่าสุดระบุว่าได้บุกตรวจ 5 โรงงานออกแบบและผลิตเครื่องเขียนและบริษัทรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ใน สมุทรปราการและชลบุรีตลอดเดือนมกราคมที่ผ่านมา ประเมินแล้วพบว่าทำให้บริษัทซอฟต์แวร์ต้องเสียรายได้ไปหลายล้านบาท

บก.ปอศ.ไม่เปิดเผยชื่อบริษัทที่ได้บุกตรวจค้น ระบุเพียงว่า 1 ใน 5 เป็นบริษัทออกแบบและผลิตเครื่องเขียนที่มีสินทรัพย์จดทะเบียนมากกว่า 500 ล้านบาท และมีลูกค้าเป็นบริษัทข้ามชาติชั้นนำมากมาย โดยทั้งหมดถูกตรวจค้นในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ จุดนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจให้ข้อมูลว่า ฝ่ายออกแบบของบริษัทดังกล่าวใช้ซอฟต์แวร์ออโต้เดสค์เถื่อนที่ละเมิด ลิขสิทธิ์ในการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ มูลค่าของ ซอฟต์แวร์ออโต้เดสค์ที่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์นี้สูงถึง 1.8 ล้านบาท กรรมการของบริษัทจึงถูกตั้งข้อหาว่าละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ อาจถูกปรับและจำคุกได้

“เรายังคงดำเนินการตรวจสอบและสืบสวนบริษัทต่างๆ ที่ต้องสงสัยว่าละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ตามเบาะแสที่ได้รับแจ้งมา เราจะเข้าตรวจค้นบริษัทที่ต้องสงสัยว่าละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ต่อไป และจะจับกุมหากพบว่ามีการกระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์จริง ไม่ว่าจะเป็นบริษัทขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ หรือว่าอยู่ในอุตสาหกรรมประเภทใดก็ตาม” พ.ต.อ. ศรายุทธ พูลธัญญะ รองผู้บังคับการกองบังคับการการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) กล่าว

1 วันหลังจากการเข้าตรวจค้นจับกุมโรงงานผลิตเครื่องเขียน เจ้าหน้าที่ตำรวจบก. ปอศ. เข้าตรวจค้นบริษัทออกแบบและรับเหมาก่อสร้างอีกสองแห่งที่ตั้งอยู่ในจังหวัด ชลบุรี บริษัทหนึ่งมีสินทรัพย์จดทะเบียนมากกว่า 200 ล้านบาท ส่วนอีกหนึ่งบริษัทจัดว่าเป็นธุรกิจขนาดกลาง ประเมินมูลค่าของซอฟต์แวร์ที่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์ได้ราว 688,000 บาท และ 1,100,000 บาทตามลำดับ บริษัททั้งสองแห่งมีเจ้าของเป็นคนไทย

บริษัทอีกสองแห่งซึ่งแห่งหนึ่งมีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นชาวอังกฤษ และอีกแห่งหนึ่งมีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นชาวญี่ปุ่น ถูกตำรวจเข้าตรวจค้นในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในเดือนนี้เช่นกัน

ตำรวจพบว่าบริษัทแรกซึ่งดำเนินธุรกิจด้านวิศวอุตสาหการ ใช้ซอฟต์แวร์ด้านการออกแบบที่ละเมิดลิขสิทธิ์ในการดำเนินงานที่สาขาของ บริษัทในจังหวัดระยอง บริษัทแห่งนี้ใช้ซอฟต์แวร์เถื่อนที่ละเมิดลิขสิทธิ์ในการให้บริการแก่ลูกค้า ในละแวกนั้นซึ่งส่วนมากอยู่ในอุตสาหกรรมน้ำมัน มูลค่าของซอฟต์แวร์ที่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์ตกราว 800,000 บาท

ส่วนบริษัทที่สองซึ่งดำเนินธุรกิจผลิตเครื่องจักรกลนั้น มูลค่าของซอฟต์แวร์ที่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์ที่ตรวจพบตกราว 5 แสนบาท บริษัทแห่งนี้มีสำนักงานขายอยู่ในกรุงเทพฯ และใช้ซอฟต์แวร์เถื่อนที่ละเมิดลิขสิทธิ์ดำเนินการวางแผนการผลิตและติดตั้ง เครื่องจักให้แก่ลูกค้าในประเทศไทย

“เรารู้ว่ายังมีองค์กรต่างๆ อีกมากที่ใช้ซอฟต์แวร์เถื่อนที่ละเมิดลิขสิทธิ์ในการดำเนินธุรกิจ เราอยากให้ผู้ที่รู้เห็นการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์แจ้งเบาะแสเข้ามา ข้อมูลส่วนตัวของท่านจะถูกปิดไว้เป็นความลับ” โดยผู้ที่รายงานการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์มีสิทธิ์ได้รับเงินรางวัลสูงสุด ถึง 250,000 บาท

แหล่งที่มา http://www.manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9530000015682

Leave a Reply